วันพุธที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2553

ข่าวเกี่ยวกับกฏหมาย

ความผิดทางอาญาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ที่ทุกคนควรทราบมีผลบังคับใช้ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 50

1. เจ้าของไม่ให้เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเขา แล้วเราแอบเข้าไปดู… เจอคุก 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2. แอบไปรู้วิธีการเข้าระบบคอมพิวเตอร์ของเค้า แล้วบอกให้คนอื่นรู้ … เจอคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

3. ข้อมูลของเขา เขาเก็บไว้ในระบบคอมพิวเตอร์ดีๆ แล้วแอบไปล้วงข้อมูลของเขาออกมา … เจอคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

4. เขาส่งข้อมูลหากันผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์แบบส่วนตัว แล้วเราทะลึ่งไปดักจับข้อมูลของเขา … เจอคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

5. ข้อมูลของเขาอยู่ในระบบคอมพิวเตอร์ของเขา เราดันมือบอนแก้… เจอคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

6. ระบบคอมพิวเตอร์ของเค้าทำงานอยู่ดีๆ เราดันยิง packet หรือ message หรือ virus หรือ trojan หรือ worm หรืออะไรก็ตามเข้าไปก่อกวนจนระบบเขาเดี้ยง … เจอคุกไม่เกิน 5 ปีหรือปรับไม่เกิน 100,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

7. เขาไม่ได้อยากได้ข้อมูลหรืออีเมลล์จากเราเลย เราก็ทำตัวเซ้าซี้ส่งให้เขาซ้ำๆ อยู่นั่นแหล่ะ จนทำให้เขาเบื่อหน่ายรำคาญ … เจอปรับไม่เกิน100,000บาท

8. ถ้าเราทำผิดข้อ 5. กับ ข้อ 6. แล้ว... - ทำให้เราๆ ท่านๆ บุคคลทั่วไปเกิดความเสียหาย ... จำคุกไม่เกิน 10 ปี และปรับไม่เกิน 200,000บาท - ก่อความเสียหายต่อความั่นคงของประเทศ เศษรฐกิจ และสังคม .... จำคุกตั้งแต่ 3 - 5 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000บาท ถึง 300,000บาท และถ้าทำให้ใครตายก็จะปรับโทษเป็น ... จำคุกตั้งแต่ 10ปีถึง 20ปี

9. ถ้าเราสร้างซอฟต์แวร์เพื่อช่วยให้ใครๆทำเรื่องแย่ๆในข้อข้างบนได้ … เจอคุกไม่เกินปีนึง หรือปรับไม่เกิน 20,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 10.โป๊,โกหก, ปลอมแปลง,กระทบความมั่นคง,ก่อการร้าย, และส่งต่อข้อมูลทั้งๆที่รู้ว่าผิดตามที่กล่าวมาข้างต้น … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ11. ใครเป็นเจ้าของเว็บ แล้วสนับสนุน/ยอมให้เกิดข้อ

10. โดนเหมือนกัน … เจอคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เท่ากับคนที่ทำเลย 12. ใครอยากเป็นศิลปินข้างถนน ที่ชอบเอารูปชาวบ้านมาตัดต่อแล้วเอาไปโชว์ผลงานบนระบบคอมพิวเตอร์ให้ใครต่อใครดู เตรียมใจไว้เลยมีสิทธิ์โดน… เจอคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ13. เราทำผิดที่เว็บไซต์ซึ่งอยู่เมืองนอก แต่ถ้าเราเป็นคนไทย อย่าคิดว่ารอด โดนแหงๆ ฝรั่งทำผิดกับเรา แล้วอยู่เมืองนอกอีกต่างหาก เราเป็นคนไทย ก็เรียกร้องเอาผิดได้เหมือนกัน

กฏหมายไทย




กฎหมาย ( law หรือ legislation) คือ กฎอันมีที่มาจากการตราขึ้นโดยสถาบันหรือผู้มีอำนาจสูงสุดในรัฐ หรือจากจารีตประเพณีอันเป็นที่ยอมรับนับถือ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารประเทศ ใช้บังคับบุคคลให้ปฏิบัติตาม หรือกำหนดระเบียบแห่งความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลหรือระหว่างบุคคลกับรัฐ
ความจำเป็นในการมีกฎหมาย
กฎหมายเป็นเครื่องควบคุมประพฤติการณ์ในสังคม พัฒนาขึ้นมาจากศีลธรรม ขนบธรรมเนียม จารีตประเพณี ศาสนา และกฎเกณฑ์ข้อบังคับ ตามลำดับ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อธำรงความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของสมาชิกในสังคม กับทั้งเพื่อให้การอยู่ร่วมกันในสังคมนั้นเป็นไปโดยราบรื่น สนองความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเหมาะสม ดังภาษิตละตินที่ว่า "ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นมีสังคม ที่ใดมีสังคม ที่นั้นมีกฎหมาย ด้วยเหตุนั้น ที่ใดมีมนุษย์ ที่นั้นจึงมีกฎหมาย" Ubi homo, ibi societas. Ubi societas, ibi jus. Ergo ubi homo, ibi jus) ด้วยเหตุนี้กฎหมายจึงได้ชื่อว่าเป็น "ปทัสถานทางสังคม" ( social norms) ซึ่งบางทีก็เรียก "บรรทัดฐานของสังคม
ปทัสถานทางสังคม
เป็นที่ยอมรับกันในทางสังคมวิทยาว่า มนุษย์เป็นสัตว์สังคม จึงไม่สามารถอยู่เองอย่างโดดเดี่ยวได้ และเมื่อสังคมเกิดขึ้น การติดต่อสมาคมเพื่อสนองความต้องการซึ่งกันและกันก็มีขึ้น ดังนั้น แต่ละสังคมจึงจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์ต่าง ๆ เพื่อควบคุมความประพฤติของสมาชิกให้เป็นไปในทำนองเดียวกัน และ/หรือเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยของส่วนรวม กฎเกณฑ์เช่นนี้เรียก "ปทัสถานทางสังคม" ( social norms)
คำ "ปทัสถานทางสังคม" นี้ บางทีก็ว่า "บรรทัดฐานทางสังคม" หรือ "ปทัฏฐานทางสังคม" ซึ่งคำ "ปทัสถาน" "ปทัฏฐาน" และ "บรรทัดฐาน" สามคำนี้ ล้วนแต่เป็นคำ ๆ เดียวกันและมีความหมายอย่างเดียวกันทั้งสิ้น ชั่วแต่ว่า "ปทัสถาน" เป็นคำสันสกฤต"ปทัฏฐาน" เป็นคำบาลีส่วน "บรรทัดฐาน" นั้นแผลงมาจาก "ปทัฏฐาน" อีกทีหนึ่ง หาใช่มาจากคำ "บรรทัด" + "ฐาน"
ความสำคัญของปทัสถานของสังคมนั้น นอกจากเป็นเครื่องควบคุมสังคมและธำรงความสงบเรียบร้อยของสังคมแล้ว ยังเป็นแบบแผนพฤติกรรมอันเป็นที่คาดหวังของสังคม เป็นมาตรฐานที่สมาชิกทั้งปวงได้รับการประสงค์ให้ปฏิบัติตาม จึงเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป ตัวอย่างเช่น ในสังคมไทย เมื่อนักเรียนมาถึงโรงเรียนและพบครูเวรยืนอยู่ก็จะแสดงความเคารพครูโดยไม่ต้องใช้เวลานึกคิดเลยว่าควรทำประการใดในกรณีเช่นนั้น
ปทัสทานทางสังคมจึงเกิดจากการที่คนในสังคมปฏิบัติหรืองดเว้นการปฏิบัติตามคตินิยมของตน จนกลายเป็นระเบียบ แบบแผน หรือประเพณีนิยม นอกจากนั้นยังมีที่มาจากค่านิยมของสังคมนั้น ๆ ด้วย เช่น สังคมไทยมีค่านิยมยกย่องนับถือผู้ใหญ่ จึงเกิดปทัสถานทางสังคมในการนับถือผู้ใหญ่
โดยทั่วไปแล้ว นักสังคมวิทยาแบ่งปทัสถานทางสังคมเป็นสามประเภทใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้
วิถีประชา
วิถีประชา หรือวิถีชาวบ้าน (folkways) เป็นปทัสถานทางสังคมที่คนยอมรับนับถือจนเกิดความเคยชิน ไม่รู้สึกว่าเป็นภาระหน้าที่ และไม่มีกฎหมายข้อบังคับใด ๆ สั่งให้ปฏิบัติ กับทั้งยังเป็นพฤติกรรมที่คนคาดหวังกันว่าคนอื่นจะทำหรือไม่ทำอะไรในสถานการณ์ต่าง ๆ เช่น การพูดคำ "สวัสดี" การยกมือไหว้ การสวมชุดดำในงานศพ เป็นต้น โดยส่วนใหญ่เป็นมาตรฐานทางพฤติกรรม ไม่มีการบังคับควบคุมอย่างเข้มงวด เมื่อมีการละเมิดผู้ละเมิดก็เพียงได้รับคำติฉินนินทา ทั้งนี้ วิถีประชาสามารถจำแนกได้ดังนี้
1. สมัยนิยม (fashion) เป็นปทัสถานทางสังคมที่แสดงออกถึงความนิยมของกลุ่มคนซึ่งแพร่หลายไปรวดเร็วในช่วงเวลาหนึ่ง และก็เสื่อมไปรวดเร็วเช่นกัน ในช่วงแพร่ระบาดนั้น คนในสังคมทั่วไปมีความรู้สึกว่าตนถูกบังคับให้ปฏิบัติตาม มิเช่นนั้นก็ถูกว่า "เชย" เป็นต้น เช่น เรื่องแบบทรงผม แบบเครื่องแต่งกาย
2. ความนิยมชั่วครู่ (fad) เป็นแบบพฤติกรรมเพียงผิวเผินและไม่จริงจัง เปลี่ยนแปลงง่าย รวดเร็ว มาเร็วไปเร็ว เช่น สมัยหนึ่งคนไทยเคยสนทนากันด้วยสำนวน "อย่าให้เซด"
3. ความคลั่งไคล้ (craze) เป็นเรื่องราวของความไม่มีเหตุผล เมื่อครอบงำผู้ใดแล้วผู้นั้นก็มักประพฤติปฏิบัติในในทำนองโง่เขลาเบาปัญญา หมกมุ่นอยู่กับเรื่องที่ตนคลั่งไคล้เป็นต้น เช่น การคลั่งไคล้ดารานักร้อง
4. งานพิธี (ceremonies) เป็นการแสดงออกซึ่งเกียรติยศ ความมีหน้ามีตา ยังผลให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นพวกเดียวกัน สนับสนุนความสมานฉันท์ภายในกลุ่ม แต่ใครจะปฏิบัติหรือไม่ก็ได้ เช่น งานฉลองวันครบรอบวันเกิด งานฉลองวันครบรอบวันสมรส เป็นต้น
5. พิธีการ (rites) เป็นแบบแผนพฤติกรรมที่มีลำดับขั้นตอนแน่นอน และต้องทำซ้ำ ๆ เช่น วันพระ วันสงกรานต์ วันทำบุญขึ้นบ้านใหม่ วันมาฆบูชา
6. พิธีกรรม (rituals) เป็นแบบแผนพฤติกรรมตามความเชื่อที่มักไม่เปิดเผยต่อสาธารณชนทั้งหมด เช่น พิธีรับน้องใหม่
7. มรรยาททางสังคม หรือมารยาททางสังคม (etiquette) เป็นการปฏิบัติตนให้เหมาะสมแก่กาลเทศะในการสมาคม เช่น มรรยาทในการรับประทานอาหาร การโดยสารรถประจำทางควรลุกให้เด็ก คนชรา และสตรีมีครรภ์นั่ง เป็นต้น
จารีตประเพณี
จารีตประเพณี หรือกฎศีลธรรม หรือศีลธรรมเฉย ๆ ก็เรียก (mores) เป็นปทัสถานที่กำหนดให้คนในสังคมประพฤติปฏิบัติอย่างเข้มงวด มีการควบคุมที่รุนแรงเพื่อป้องกันการฝ่าฝืน โดยคนในสังคมนั้นถือว่าแบบแผนการปฏิบัติดังกล่าวเป็นสิ่งดีสิ่งงาม ผู้ละเมิดเป็นคนผิดคนชั่ว เป็นต้น จารีตประเพณีจึงมีลักษณะเป็นข้อห้าม (taboo) เช่น การห้ามสมรสกันระหว่างญาติสืบสายโลหิต และขอให้ปฏิบัติ เช่น ต้องช่วยเหลือผู้อื่น เป็นต้น อันใดจะเป็นจารีตประเพณีได้ ต้องเป็นแนวประพฤติปฏิบัติที่ดำเนินสืบ ๆ ต่อกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยผู้ปฏิบัตินั้นรู้สึกร่วมกันว่าจะต้องปฏิบัติตาม เป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติเช่นเดียวกับกฎหมาย
จารีตประเพณีต่างจากวิถีประชาตรงที่ จารีตประเพณีเป็นพฤติกรรมอันเชื่อว่าจะมีผลต่อสวัสดิภาพโดยรวมของคนหมู่มาก และเป็นสิ่งที่มีขึ้นเพื่อคนหมู่มาก มีความมั่นคงและมีการควบคุมที่เข้มงวดกว่าวิถีประชาอยู่มาก
จารีตประเพณีนั้นวิวัฒนามาจากศีลธรรม (morality) ซึ่งเกิดแต่ความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์แต่ละคนว่าการกระทำอย่างไรชอบ อย่างไรไม่ชอบ เกิดจากมโนสำนึกและมโนธรรมของแต่ละคนมีขึ้นได้เพราะแต่ละคนมีสติปัญญาจะหยั่งรู้ว่าเมื่อตนกระทำอย่างไรไปแล้ว อีกฝ่ายจะรู้สึกนึกคิดอย่างไร และจะมีปฏิกิริยาอย่างไร
ศีลธรรมนั้นมีอยู่ในทุกสังคมมาแต่โบราณกาล และเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติอย่างเดียวกับกฎหมายเช่นกัน แต่ก็มีความแตกต่างกับกฎหมายในหลาย ๆ ด้าน เช่น ศีลธรรมมีวัตถุประสงค์มุ่งเอาความสมบูรณ์ของจิตใจ เน้นมโนสำนึกเป็นหลัก ส่วนกฎหมายนั้นเน้นรักษาความสงบของส่วนรวมเป็นหลัก ซึ่งบางทีก็ไม่เกี่ยวกับมโนสำนึก เช่น การคิดปองร้ายผู้อื่นอยู่ในใจ กฎหมายไม่ถือว่าผิด แต่ทางศีลธรรมว่าเป็นผิดเป็นชั่ว อย่างไรก็ดี ศีลธรรมกับกฎหมายนั้นก็มีความสัมพันธ์กันในฐานะที่เป็นวิวัฒนาการแห่งกัน เป็นต้นว่า มีกฎหมายหลายบทหลายมาตราที่กำหนดว่าการกระทำที่ขัดต่อ "ศีลธรรมอันดีของประชาชน" (good moral of the public) เป็นสิ่งที่กฎหมายไม่รับรู้ แต่กรณีนี้ต้องเป็นศีลธรรมที่คนหมู่ยืดถือร่วมกัน ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง และต้องเป็นศีลธรรมอันดีด้วย
อันศีลธรรมนั้น หากเป็นของที่คนหมู่ซึ่งประกอบอาชีพลักษณะเดียวกันถือร่วมกัน ศีลธรรมของวิชาชีพนั้นจะเรียก "จริยธรรม" (ethics) เช่น จริยธรรมของแพทย์ จริยธรรมของนักกฎหมาย
เมื่อศีลธรรมนั้นได้รับการประพฤติปฏิบัตินานเข้า ๆ และเกิดความรู้สึกร่วมกันว่าจะต้องปฏิบัติเช่นนั้น ก็กลายเป็นกฎเกณฑ์ควบคุมความประพฤติที่เรียกว่า "จารีตประเพณี" ดังกล่าวมาแล้ว จารีตประเพณีนี้มีสภาพบังคับสำหรับกรณีที่มีการฝ่าฝืน คือ สมาชิกในสังคมนั้นจะร่วมกันประณามหรือเกิดความรู้สึกเป็นผิดเป็นชั่วสำหรับผู้ฝ่าฝืนจารีตประเพณี ซึ่งสภาพบังคับเช่นนี้บางทีก็ไม่ชัดเจน กระนั้น จารีตประเพณีเป็นเรื่องอันครอบคลุมทุกมิติของสังคมมากกว่ากฎหมาย กฎหมายจึงใช้จารีตประเพณีอุดช่องว่างของกฎหมาย เช่น ที่กำหนดในประมวลกฎหมาแพ่งและพาณิชย์ของไทยว่า ในกรณีที่กฎหมายไม่ครอบคลุม ก็ให้เอาจารีตประเพณีมาใช้
กฎหมาย
กฎหมายเป็นกฎเกณฑ์ความประพฤติที่กำหนดให้คนในสังคมปฏิบัติตาม ส่วนใหญ่ปรากฏในสังคมที่มีระบบความสัมพันธ์สลับซับซ้อนมาก และมีองค์กรหรือสถาบันคอยกำกับดูแลการประพฤติปฏิบัติตามอย่างเป็นกิจจะลักษณะ
นักสังคมวิทยาจำแนกความแตกต่างระหว่างกฎหมายกับจารีตประเพณีไว้ดังต่อไปนี้
1. กฎหมายกำหนดระดับต่าง ๆ ของการกระทำความผิด และกำหนดบทลงโทษสำหรับความผิดนั้นตามระดับด้วย ผิดน้อยก็โทษน้อย ผิดมากก็โทษมาก แต่จารีตประเพณีเป็นเรื่องของความรู้สึกว่ารับได้หรือไม่ได้ของสังคมมากกว่า
2. การลงโทษผู้กระทำตามกฎหมายมีองค์กรคอยเป็นธุระจัดการอย่างเป็นกิจจะลักษณะ แต่สำหรับจารีตประเพณีแล้ว ไม่มีองค์กรรับผิดชอบเช่นว่าโดยเฉพาะและมักเป็นการลงโทษของสังคมเอง เช่น การประณาม การเลิกคบค้าสมาคมด้วย ฯลฯ
3. จารีตประเพณีมีความเป็นยาวนานและเปลี่ยนแปลงยาก ในขณะที่กฎหมายแม้อาจมีความเป็นมายาวนานแต่ก็สามารถเปลี่ยนแปลงปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ทันที
4. จารีตบางอย่างถูกละเลยโดยคนในสังคม กฎหมายจึงมีประโยชน์กว่าเพราะมีอำนาจบังคับใช้แก่ทุกคนเป็นการทั่วไปอย่างไม่มีการยกเว้น
5. จารีตประเพณีบางทีก็ไม่ชัดเจน ทำให้เกิดปัญหาได้ ขณะที่กฎหมายมีความแน่นอนกว่า
ในการที่มนุษย์มาอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีกฎเกณฑ์เพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในสังคม กฎเกณฑ์นี้เรียกว่า "กฎหมาย" ซึ่งมีความแตกต่างกันไปตามวิวัฒนาการของแต่ละสังคม การพิจารณาถึงวิวัฒนาการของกฎหมายจึงจำต้องกระทำควบคู่ไปกับการพิจารณาถึงวิวัฒนาการของสังคม
ศาสตราจารย์ปรีดี เกษมทรัพย์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้สร้างทฤษฎีกฎหมายสามชั้น หรือกฎหมายสามยุค (Three-layered Law Theory) ขึ้นเพื่ออธิบายวิวัฒนาการของกฎหมาย กฎหมายสามชั้นก็คือชั้นของการกำเนิดขึ้นของกฎหมายตามลำดับ ซึ่งได้แก่
ยุคกฎหมายจารีตประเพณี
1. ยุคกฎหมายจารีตประเพณี หรือยุคกฎหมายชาวบ้าน ( folk law) : ในบุรพกาลอันมนุษย์เริ่มมาสโมสรกันเป็นสังคมนั้น ได้เกิดกฎเกณฑ์เพื่อควบคุมประพฤติการณ์ของสมาชิกในสังคมนั้นโดยปรากฏตัวอยู่ในรูป "จารีตประเพณี" ( customary practice)
จารีตประเพณี คือ ประเพณีที่นิยมและประพฤติกันสืบมา ถ้าฝ่าฝืนถือว่าเป็นผิดเป็นชั่วบางทีก็เรียกว่า "กฎหมายที่ดีของบรรพบุรุษ" (The Good Old Law) มีที่มาจากสามัญสำนึกและความสามารถในการจำแนกดีจำแนกชั่วของมนุษย์ จารีตประเพณีเช่นว่านี้เป็นสิ่งที่ใช้ความรู้สึกหรือเหตุผลธรรมดาสามัญสัมผัสก็เข้าใจเข้าถึงได้ เช่น บิดามารดามีหน้าอภิบาลบุตร บุตรมีหน้าที่อภิบาลบิดามารดาเมื่อยามท่านแก่เฒ่า การลักขโมยของผู้อื่นเป็นการกระทำที่มิชอบ เป็นต้น
กล่าวโดยสรุปคือ จารีตประเพณีนั้นมีองค์ประกอบอยู่สองประการ ดังนี้ 1) มีการกระทำทางกายภาพ กล่าวคือ มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาเป็นระยะยาวนานพอสมควร และ 2) มีองค์ประกอบทางจิตใจ กล่าวคือ สมาชิกในสังคมนั้นเห็นพ้องกันว่าเป็นเสมือนกฎหมาย จำเป็นต้องปฏิบัติตาม
ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย
2. ยุคกฎหมายของนักกฎหมาย (jurist law) : ในยุคต่อ ๆ มา สังคมมีความเจริญขึ้น ขยายใหญ่ขึ้น และมีความซับซ้อนขึ้นตามลำดับ เมื่อผู้ใดมาละเมิดกฎหมายที่ปรากฏตัวอยู่ในรูปจารีตประเพณีดังกล่าวนั้น สมาชิกคนอื่น ๆ ของสังคมย่อมมองว่าเป็นผิดเป็นชั่ว ต้องพิจารณาโทษสำหรับผู้ละเมิดนั้นเพื่อมิให้เกิดการกระทำเช่นนั้นอีก ความรู้สึกร่วมเช่นนี้ค่อย ๆ พัฒนาเป็น "กระบวนการยุติธรรม" ขึ้น
กระบวนการยุติธรรมนั้นประกอบด้วยขั้นตอนสองขั้นตอน คือ 1) กระบวนพิจารณา (proceedings) เป็นขั้นพิจารณาและตัดสินชึ้ขาดว่าใครผิดใครถูก และ 2) การบังคับคดี (execution) เป็นขั้นดำเนินการตามคำตัดสินชี้ขาดนั้น เช่น การลงโทษคนผิด การชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น เป็นต้น เมื่อกระบวนการยุติธรรมนี้เกิดขึ้นเป็นประจำสม่ำเสมอก็กลายเป็นการสถาปนา "อำนาจตุลาการ"
อำนาจตุลาการนั้น เมื่อมีการใช้บ่อยขึ้น ๆ ก็เป็นการสร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ เพื่อมาใช้แก่กรณีที่มีความซับซ้อนซ่อนเงื่อนขึ้นตามกาลสมัยและอันซึ่งจารีตประเพณีอย่างเดิมไม่อาจใช้ได้ กฎเกณฑ์ใหม่เช่นว่านี้เป็นการเสริมเติมจารีตประเพณีเดิมให้มีรายละเอียดเหมาะสมแก่กาลเวลาและกรณี เรียกว่า "กฎหมายนักกฎหมาย" ดูตัวอย่างกรณีทั้งสามต่อไปนี้
กรณีที่หนึ่ง - นาย ก ล่าสัตว์ได้ตัวหนึ่ง นาย ข เข้ามาแย่ง หากให้ตัดสินทุกคนก็ย่อมตอบได้ว่า นาย ข เป็นฝ่ายผิด โดยไม่จำเป็นต้องไปร่ำเรียนกฎหมายที่ได้ก็รู้ได้ตัดสินได้เช่นนั้นโดยใช้สามัญสำนึก การใช้เหตุผลเช่นนี้เรียก "การใช้เหตุผลแบบธรรมดาสามัญ" ( simple natural reasoning)
กรณีที่สอง - นาย ก พยายามฆ่าสัตว์ตัวหนึ่งแต่ไม่ตาย สัตว์นั้นกระหืดกระหอบหนีเข้าไปตายหลังบ้านนาย ข นาย ก ตามไปได้ ใครจะมีสิทธิเป็นเจ้าของสัตว์นั้น กรณีเช่นนี้หากใช้เหตุผลที่ลึกล้ำขึ้นอีกระดับหนึ่งแยกแยะรายละเอียดของข้อเท็จจริง ก็จะพบว่านาย ก ควรได้สัตว์นั้น เพราะเป็นฝ่ายลงทุนลงแรงฆ่าและติดตามไปตัว แต่นาย ข อยู่เฉย ๆ มิได้กระทำอันใด ควรหรือจะได้สัตว์นั้น
กรณีที่สาม - นาย ก ยิงสัตว์ตัวหนึ่งแต่เฉียดไป สัตว์นั้นวิ่งหนีไปได้เข้าไปในหลังบ้านนาย ข นาย ข ยิงสัตว์นั้นตายลง นาย ก ติดตามไปได้พบและว่าสัตว์นั้นควรเป็นของตน กรณีเช่นนี้ใครควรจะได้สัตว์นั้น หากผู้ตัดสินมิได้แยกแยะโดยละเอียดตามข้อเท็จจริงก็อาจตัดสินไปตามกรณีที่สอง แต่หากวิเคราะห์แล้ว นาย ก มิได้ทำให้สัตว์นั้นสูญเสียความสามารถที่จะหนี สัตว์นั้นจึงมีอิสรภาพอยู่ เมื่อนาย ข ยิงสัตว์ที่มีอิสรภาพคือมิได้เป็นสมบัติของผู้ใดได้ ก็ควรจะได้สัตว์นั้นไป
สามกรณีนี้มีรายละเอียดเพิ่มขึ้นตามข้อเท็จจริง ซึ่งในกรณีหลัง ๆ ไม่อาจใช้เหตุผลธรรมดาสามัญมาจัดการได้นัก จึงจำต้องใช้เหตุผลที่เกิดจากความคิดแยกแยะเปรียบเทียบตามแต่กรณี เรียกว่า "การใช้เหตุผลทางกฎหมาย" (juristic reasoning) ซึ่งต่อมาการใช้เหตุผลเช่นนี้ก็ได้มีการเปิดสอนฝึกฝนและกลายมาเป็นวิชานิติศาสตร์
ยุคกฎหมายบัญญัติ
3. ยุคกฎหมายบัญญัติ ยุคกฎหมายนิติบัญญัติ หรือยุคกฎหมายเทคนิค (technical law) : ยุคถัดมา สังคมมีความเจริญรุดหน้าและเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้น การดำรงชีวิตมีความสลับซับซ้อนตามไปด้วย จำเป็นต้องมีการแก้ไขปัญหาอย่างปัจจุบันหรือเฉพาะหน้า หรือเพื่อวัตถุประสงค์เฉพาะบางประการ ซึ่งบางทีจารีตประเพณีหรือกฎหมายอย่างเดิมก็มีข้อจำกัดไม่อาจสนองความต้องการนั้นได้ และบางทีก็เป็นเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกับจารีตประเพณีเอาเสียเลย เช่น เรื่องการตัดไม้ มีกำหนดว่าไม้บางประเภทห้ามตัด ไม้บางประเภทจะตัดหรือเคลื่อนย้ายต้องได้รับอนุญาตก่อน ปัญหามีอยู่ว่าทำไมต้องห้ามเช่นนั้น ในเมื่อโบราณก็ตัดก็ทำกัน และการตัดไม้มิใช่เรื่องผิดศีลธรรมอันใดเลย แต่เป็นความจำเป็นในปัจจุบันที่ต้องควบคุมและรักษาสมดุลทางธรรมชาติ จึงกำหนดเช่นนั้น เป็นต้น
กฎหมายสมัยใหม่เช่นว่านี้มักมีองค์กรประจำทำหน้าที่กลั่นกรองและประกาศใช้ เรียกว่า "ฝ่ายนิติบัญญัติ" ซึ่งมีกำเนิดแต่คริสต์ศตวรรษที่ 18
รองศาสตราจารย์สมยศ เชื้อไทย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แสดงความคิดเห็นว่า
...กฎหมายเทคนิคไม่มีขนบธรรมเนียมประเพณีและศีลธรรมคอยหนุนหลัง ถ้าใครผิดก็ไม่รู้สึกว่าคนนั้นทำชั่วหรือทำผิดศีลธรรม เพราะฉะนั้นกฎหมายเทคนิคจึงไม่มีลักษณะบังคับตามธรรมชาติ (spontaneous sanction)...เช่น จอดรถในที่ห้ามจอด คนส่วนใหญ่ไม่รู้สึกว่าชั่ว...
แนวคิดแม่บทเกี่ยวกับกฎหมาย
กฎหมายมีความเกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของบุคคลเป็นอย่างยิ่ง กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่คนทั่วไปควรรู้ อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่มีกฎหมายบังคับให้ทุกคนต้องรู้กฎหมาย แต่ก็มีหลักกฎหมายอยู่ว่า "ความไม่รู้กฎหมายไม่เป็นข้อแก้ตัว" (ignorantia juris non excusat หรือ ignoraritia legis non excusat) เพราะหากมีคนกล่าวดังนั้นได้ การบังคับใช้กฎหมายก็มิได้ผล
แม้กฎหมายจะเป็นสิ่งที่ทุกคนควรรู้ แต่นิยามของกฎหมายนั้นก็มีมากมายเหลือเกินและได้รับการถกเถียงมานานแต่โบราณกาลจวบปัจจุบันก็ยังหาที่ยุติมิได้ ก็นิยามของกฎหมายนั้นย่อมแตกต่างไปตามแต่ผู้ให้นิยาม อย่างไรก็ดี มีสำนักทางวิชากฎหมายอยู่สามฝ่ายซึ่งให้นิยามไว้ ดังต่อไปนี้
สำนักกฎหมายธรรมชาติ
สำนักกฎหมายธรรมชาติ (the Natural Law Thoery) เกิดขึ้นในสมัยกรีก โดยเป็นผลพลอยได้จากแนวคิดเรื่องสิทธิโดยธรรมชาติ สำนักนี้เห็นว่ากฎหมายคือ "...พลังแห่งธรรมชาติ เป็นจิตใจและเหตุผลของผู้ทรงภูมิปัญญา เป็นมาตรฐานชั่งน้ำหนักความยุติธรรมและอยุติธรรม กฎหมายมิใช่สิ่งอื่นใดนอกจากการสร้างสรรค์ความมีเหตุผลอันเป็นหนึ่งของกฎอันนิรันดร กฎหมายธรรมชาติเป็นบางสิ่งบางอย่างที่ก่อตัวขึ้นโดยเหตุผลและเป็นงานของเหตุผล"
สำนักนี้เชื่อว่า กฎหมายนั้นมนุษย์มิได้สร้างขึ้นมา แต่เกิดขึ้นจากธรรมชาติโดยตรงเสมอกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติอื่น ๆ หรือเกิดจากพระเจ้าสถาปนาขึ้น หรือเกิดจากความรู้สึกของมนุษย์ที่สามารถแยกผิดชอบชั่วดีได้ กับทั้งเห็นว่ากฎหมายมีลักษณะพิเศษคือใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาไม่มีวันพ้นสมัย และอยู่เหนือรัฐอีกด้วย
แนวคิดของสำนักนี้มีอิทธิพลต่อประเทศฝรั่งเศสและประเทศอื่น ๆ ในโลกตะวันตกมาก เห็นได้จากคำประกาศอิสรภาพจากอังกฤษของอเมริกาใน พ.ศ. 2319ซึ่งมีความว่า "เมื่อปรากฏว่ามีความจำเป็นที่ประชาชาติหนึ่งจำต้องเลิกล้มความสัมพันธ์ทางการเมืองที่เคยมีกับประชาชนอีกชาติหนึ่ง เพื่อที่จะแยกทางเดินเป็นอิสระเท่าเทียมกับชาติทั้งหลายในโลกตามสิทธิในกฎหมายธรรมชาติและกฎของพระผู้เป็นเจ้า ดังนั้น จึงจำต้องประกาศสาเหตุซึ่งทำให้ตัดสินใจประกาศเอกราช เพื่อให้มนุษยชาติทั้งหลายได้รับรู้ไว้"
แนวคิดของสำนักนี้เสื่อมลงเพราะทนทานต่อการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และแนวคิดทฤษฎีใหม่ ๆ ที่มีเหตุผลกว่าแนวคิดอันอิงเทวนิยมไม่ไหว ทั้งนี้ทั้งนั้น ก็ยังคงตกค้างและมีอิทธิพลเหนือจิตใจนักกฎหมายในด้านอุดมคติและคุณธรรมอยู่มาก
สำนักกฎหมายบ้านเมือง
เพื่อให้เข้าใจแนวคิดของสำนักนี้ยิ่งขึ้น โปรดทำความเข้าใจแนวคิดในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการด้วย
สำนักกฎหมายบ้านเมือง (the Positive Law Theory) เกิดขึ้นในยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการ โดยมีแนวคิดขัดแย้งกับสำนักกฎหมายธรรมชาติอย่างสิ้นเชิง สำนักนี้เห็นว่ากฎหมายคือระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับความประพฤติที่ประชาชนต้องปฏิบัติตาม มีตัวตนอยู่จริง และเป็นที่ยอมรับในสังคม ไม่ใช่แค่สิ่งที่ควรมีหรือเป็นนามธรรมตามที่สำนักกฎหมายธรรมชาตินำเสนอ
ศาสตราจารย์เฮอร์เบิร์ต ลีโอเนล อาดอลฟัส ฮาร์ต (Herbert Lionel Adolphus Hart) ปรัชญาเมธีทางนิติศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดกล่าวว่า สำนักนี้เห็นว่า กฎหมายมีลักษณะเป็นคำสั่งของมนุษย์ การวิเคราะห์แนวคิดทางกฎหมายเป็นสิ่งที่ควรทำ แต่ควรแยกออกจากการสืบค้นหรือตรวจสอบทางประวัติศาสตร์และสังคมวิทยาโดยสิ้นเชิง ตลอดจนต้องไม่เป็นการประเมินคุณค่าเชิงวิพากษ์วิจารณ์ด้วย
ปรัชญาเมธีคนสำคัญของสำนักนี้ คือ จอห์น ออสติน (John Austin) ซึ่งว่า กฎหมายคือคำสั่งคำบัญชาของรัฏฐาธิปัตย์ในการกำหนดมาตรฐานความประพฤติของผู้อยู่ใต้บังคับ ผู้ฝ่าฝืนย่อมมีโทษ
สำนักกฎหมายบ้านเมืองนี้มีอิทธิพลต่อแนวคิดทางกฎหมายในประเทศไทยอยู่ช่วงหนึ่งด้วย เนื่องจากนักกฎหมายไทยในอดีตเคยเอาแนวคิดของสำนักนี้มาเผยแพร่และยึดถือกันอยู่พักใหญ่ เช่น พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ารพีพัฒนศักดิ์ กรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ซึ่งว่า

เราจะต้องระวัง อย่าคิดเอากฎหมายไปปนกับความดีความชั่วฤๅความยุติธรรม กฎหมายเป็นคำสั่งแบบที่เราจะต้องปฏิบัติตาม แต่กฎหมายนั้นบางทีก็จะชั่วได้ฤๅไม่เป็นยุติธรรม อะไรไม่ยุติธรรมมีบ่อเกิดหลายแห่ง เช่น ตามศาสนาต่าง ๆ แต่กฎหมายนั้นเกิดขึ้นได้แห่งเดียวคือจากผูเปกครองแผ่นดินฤๅที่ผู้ปกครองแผ่นดินอนุญาตเท่านั้น
สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์
สำนักกฎหมายประวัติศาสตร์ (the Historical School of Law) เห็นว่า "...กฎหมายโดยแท้จริงหาใช่เป็นเพียงแค่อะไรสักอย่างที่ผู้มีอำนาจตรากฎหมายสามารถเขียนขึ้นได้ตามใจปรารถนาโดยพลการ ทว่ากฎหมายเป็นผลผลิตของพลังภายในสังคมที่ทำงานของมันเองอย่างเงียบ ๆ และมีรากเหง้าที่หยั่งลึกอยู่ในประวัติศาสตร์ของประชาชาติ โดยมีกำเนิดและเติบโตเรื่อยมาจากประสบการณ์และหลักความประพฤติทั่วไปของประชาชนซึ่งปรากฏอยู่ในรูปประเพณีหรือ 'จิตสำนึกร่วมกันของประชาชน' (common consciousness of the people) และเหนือสิ่งอื่นใด ตัวกำหนดธรรมชาติของกฎหมายคือลักษณะเฉพาะของชาติหนึ่ง ๆ ที่จัดเป็นเสมือน 'จิตวิญญาณของประชาชน' (the spirit of the people) ในชาตินั้น ๆ...มองจากแง่นี้ กฎหมายจึงเปรียบได้กับภาษาซึ่งมีกำเนิดและวิวัฒนาการเป็นการเฉพาะในแต่ละชาติแต่ละเผ่าพันธุ์"
หลักการสำคัญของสำนักนี้ว่า กฎหมายเป็นสิ่งที่ถูกค้นพบ มิใช่สิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ดังนั้น การนิติบัญญัติโดยเจตจำนงของมนุษย์จึงมีความสำคัญน้อยว่าของธรรมชาติและจารีตประเพณี และนักกฎหมายนั้นสำคัญกว่านักนิติบัญญัติ เนื่องจากเป็นผู้มาก่อนและมีวิวัฒนาการเคียงคู่กับประชาชนมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ กฎหมายมิใช่สิ่งสมบูรณ์พร้อมสรรพ ไม่อาจนำมาปรับใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาสำหรับกรณีอย่างเดียวกัน สรุปได้ว่า สำนักนี้มีความเห็นเป็นการประสมประสานระหว่างสองสำนักข้างต้น โดยเน้นว่ากฎหมายเกิดจากพัฒนาการด้านประวัติศาสตร์ของแต่ละชนชาติ ไม่เชื่อว่ากฎหมายสามารถค้นแล้วพบได้เลยในกฎเกณฑ์แห่งธรรมชาติ



ที่มาของกฎหมาย
ที่มาของกฎหมาย หรือบ่อเกิดของกฎหมาย (source of law) หมายถึง สภาพที่กฎหมายปรากฏตัว สำหรับประเทศไทยนั้น เมื่อพิจารณาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์อันเป็นกฎหมายพื้นฐาน และพิจารณาตามกฎหมายอื่น ๆ โดยภาพรวมแล้ว จะพบว่ากฎหมายไทยปรากฏตัวอยู่ในสามรูป คือ รูปกฎหมายลายลักษณ์อักษร รูปจารีตประเพณี และรูปหลักกฎหมายทั่วไป
กฎหมายลายลักษณ์อักษร
โปรดดูหัวเรื่อง ศักดิ์ของกฎหมาย
กฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรของไทยสามารถจำแนกตามรูปแบบและองค์กรที่ตราขึ้นได้ตามลำดับดังนี้ 1) รัฐธรรมนูญ 2) กฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ 3) พระราชบัญญัติ 4) พระราชกำหนด 5) พระราชกฤษฎีกา 6) กฎกระทรวง และ 7) กฎหมายที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นตราขึ้น
จารีตประเพณี
โปรดดูหัวเรื่อง ภูมิหลังของกฎหมาย / ปทัสถานทางสังคม / จารีตประเพณี
จารีตประพณี ตามประวัติศาสตร์นั้นได้รับการใช้บังคับเสมอเป็นกฎหมายมาแต่บุรพกาลก่อนที่สังคมจะรวมเป็นรัฐและมีระบบอักษรใช้ ปัจจุบันบางประเทศมีการบันทึกจารีตประเพณีเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อประโยชน์ในการสืบทอดและขจัดข้อสงสัยด้วย
ความสำคัญของจารีตประเพณีอยู่ที่ ถึงแม้จะมีความพยายามในการเขียนกฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้มีความกว้างขวางเพียงไร แต่ก็ไม่อาจครอบคลุมกรณีทั้งปวงได้ จึงต้องอาศัยจารีตประเพณีมาประกอบให้สมบูรณ์เสมอ เช่น ที่บัญญัติไว้ในมาตรา 7 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2550) ว่า "ในเมื่อไม่มีบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้บังคับแก่กรณีใด ให้วินิจฉัยกรณีนั้นไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข"
ศาสตราจารย์หยุด แสงอุทัย คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่า "สำหรับประเทศไทยแล้ว เห็นว่า เมื่อประเทศไทยรับเอาระบบประมวลกฎหมาย (code law) มาใช้ ก็น่าที่จะยอมรับแนวคิดที่ว่าจารีตประเพณีเป็นที่มาของกฎหมายในตัวเอง ซึ่งหมายความว่า เมื่อจารีตประเพณีเป็นที่มาของกฎหมายในตัวมันเอง จารีตประเพณีก็ใช้บังคับกับสังคมได้โดยตรงโดยไม่ต้องมีการออกกฎหมายมารองรับ
จารีตประเพณีจะใช้ได้ในเมื่อไม่อาจหากฎหมายที่เป็นลายลักษณ์อักษรมาใช้แก่กรณีนั้น ๆ แล้ว ฉะนั้น ในกรณีที่มีกฎหมายลายลักษณ์อักษรระบุไว้โดยชัดแจ้งแล้วจะไม่ใช้จารีตประเพณีเป็นอันขาด ทั้งนี้ จารีตประเพณีที่ใช้ได้เพื่อการอุดช่องว่างทางกฎหมายเช่นว่าต้องมีลักษณะเป็นจารีตประเพณีที่ได้รับการปฏิบัติสืบต่อกันมายาวนานและสม่ำเสมอจนกลายเป็นธรรมเนียม กับทั้งต้องมีสภาพที่สังคมเห็นว่าเป็นสิ่งถูกต้อง สมควรปฏิบัติตาม เป็นต้น นอกจากนี้ จารีตประเพณีที่จะมาใช้จะมีลักษณะดังต่อไปนี้มิได้เลย คือ 1) มาสร้างความผิดทางอาณาขึ้นใหม่ เพื่อให้เป็นไปตามหลักที่ว่า "ไม่มีความผิดถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" และ "ไม่มีโทษถ้าไม่มีกฎหมายกำหนด" และ 2) มากำหนดหน้าที่ของบุคคลเพิ่มจากที่กฎหมายลายลักษณ์อักษรกำหนดไว้แล้วไม่ได้ เช่น จะมีจารีตประเพณีให้เสียภาษีมรดกทั้ง ๆ ที่กฎหมายไม่ได้บังคับให้เสียไม่ได้

วันพฤหัสบดีที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2553

เศรษฐกิจพอเพียง


เศรษฐกิจพอเพียง
“เศรษฐกิจพอเพียง” เป็นปรัชญาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราชดำรัสชี้แนะแนวทางการดำเนินชีวิตแก่ พสกนิกรชาวไทยมาโดยตลอดนานกว่า ๒๕ ปี ตั้งแต่ก่อนวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจ และเมื่อภายหลังได้ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไขเพื่อให้รอดพ้น และสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืนภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึงระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและบริหารประเทศให้ดำเนินไปใน ทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผลรวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวังอย่างยิ่ง ในการนำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผนและการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกันจะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติโดยเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐนักทฤษฎีและนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียร มีสติ ปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี